'กันกุล' เดินเกมเร็วเหนือแสง เปิดตลาดพลังงานเสรี
"กันกุล"เดินหน้ารุกสายพานใหม่ด้านนวัตกรรมเปิดตัว "GUNKUL SPECTRUM" พร้อมภารกิจหลักในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานและมาร์เก็ตเพลสส่งตรงสินค้าพลังงานสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไป ผนึกกำลังร่วมกับ "เอไอเอส" และ "เอสซีบี เท็นเอกซ์" เอื้อประชาชนซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี
'ผนึกพันธมิตร' สร้างโอกาสโต
ภายใต้การนำทีมของ นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการบริหาร และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ ผู้บริหารเจนเนอเรชั่นที่ 2 บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) บอกถึงที่มาของ "GUNKUL SPECTRUM" เกิดจากความเชื่อที่ว่า "Energy is a Human Right" พลังงานเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่พึงจะได้รับ ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงด้านพลังงานไปกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกันก็มุ่งทลายข้อจำกัดทางพลังงานเดิมๆ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์แหล่งพลังงานใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
"ในวันนี้การสร้างนวัตกรรมที่ไม่ใช่แค่ Disruptive technology แต่ต้องเป็นการสร้างใน Speed ที่เรียกได้ว่าเป็น Speed of Light ด้วยไอเดียที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ และการปรับตัวอย่างรวดเร็ว การทำให้เกิดขึ้นได้จริงเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างนวัตกรรมในยุค Post-pandemic era ผ่านกระบวนการทำงานของพนักงานที่เป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งกันกุลกำลังก้าวไปสู่บทบาทของการเป็นผู้สร้าง ด้วยการต่อยอดการทำธุรกิจในมุมมองใหม่ๆ และขยายขอบเขตธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับผู้บริโภคทั่วไป จากเดิมที่เน้นการทำธุรกิจในแบบ B2B และ B2G เป็นหลัก ซึ่งในอนาคตยังวางเป้าหมายจะมุ่งไปสู่การเป็น Trendsetter ของวงการพลังงาน โดยมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการเจาะตลาดใหม่"
โดยแกนภารกิจของ "กันกุล สเปกตรัม" (GUNKUL SPECTRUM) แบ่งออกเป็น 3 แกน คือ 1.Energy Reformation การทลายข้อจำกัดทางพลังงานเดิมๆ 2.Energy explorer การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีความยั่งยืน และ 3.Ecosystem builder การสร้างระบบนิเวศของ Smart Energy
'ผนึกพันธมิตร' กลยุทธ์สร้างโอกาสโต
ขณะเดียวกันการจะทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาคได้นั้นจะต้องร่วมกับพันธมิตรที่มีมองเห็นศักยภาพในอุตสาหกรรมพลังงาน และเข้าใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องและตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้พลังงานในอนาคต จึงได้ร่วมกับ เอไอเอส ที่มีเครือข่ายผู้ใช้งานกว่า 41 ล้านคน และ รู้พฤติกรรมของลูกค้าที่มีความหลากหลาย
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส เปิดเผยว่า การร่วมกันในครั้งนี้จะนำระบบ Mobile ID ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาสนับสนุนในตลาดซื้อขายพลังงานครั้งแรก ซึ่งในอนาคตจะเปิดให้ประชาชนซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้อย่างเสรี บล็อกเชนจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจกรรมการซื้อขายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพบนฐานความปลอดภัย
ขณะที่พาร์ทเนอร์อย่างบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด โฮลดิ้งคอมพานีในเครือไทยพาณิชย์ จะสนับสนุนด้านการคิด การทดลอง บุคลากรที่เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมและกลยุทธ์นำเสนอธุรกิจสู่ตลาดรวมถึงเซอร์วิสอื่นๆ เพื่อให้นวัตกรสามารถสร้างธุรกิจได้อย่างเต็มที่ จะนำไปสู่ การสปินออฟเป็นบริษัทใหม่ที่ลงทุนร่วมกันได้ในอนาคต (Share ownership)
"ทั้งนี้เรายังมองพาร์ทเนอร์อื่นๆ อาทิ ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีมุมมองร่วมกัน อีกทั้งมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพทันสมัย มีความเชี่ยวชาญ เราจะซัพพอร์ตเรื่องทุน อย่างเช่น การร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรวิจัยพัฒนานสมาร์ทกริด เมืองอัจฉริยะและเทคโนโลยีพลังงานเกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มของโลก"
สะพานเชื่อมต่อสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไป
ด้านนายอทิเมท เทียมสะอาด Innovation Engineer กล่าวว่า หนึ่งในโปรดักท์ด้านพลังงานของ GUNKUL SPECTRUM ที่พัฒนาร่วมกับ นายภูรินทร์ ธานีรัตน์ ได้รับสิทธิ์ในการทำ Sandbox หรือโครงการนำร่องร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานได้อย่างอิสระ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ PEER-TO-PEER ENERGY TRADING PLATFORM ซึ่งจะเปลี่ยนให้เรากลายเป็นการไฟฟ้าสาขาย่อย
เนื่องจากในอดีตเราจะมีทางเลือกการใช้ไฟเพียงทางเดียวจากการไฟฟ้า ส่วนปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกที่ใกล้ตัวที่สุดคือ "โซลาร์เซลล์" แต่ข้อจำกัดคือโซลาร์เซลล์ติดบนหลังคาบ้านในเวลาปกติแดดจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในครัวเรือนแต่เมื่อเราไม่ได้ใช้ไฟที่ถูกผลิตออกมาจะไหลออกจากบ้านโดยที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งข้อจำกัดตรงจุดนี้แพลตฟอร์มของเราจะแก้ไขปัญหา โดยการนำพลังงานส่วนนี้ไปขายให้กับบุคคลอื่นบนแพลตฟอร์ม ส่วนอีกบ้านสามารถเลือกผู้ผลิตไฟให้กับตนเองได้ ข้อสรุปคือจะมีสิทธิในการเลือกใช้ด้วยตนเอง ซึ่งในอนาคตหากแพลตฟอร์มนี้ถูกนำไปใช้ระดับประเทศจะทำให้คนไทยทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน
"แพลตฟอร์มจะคล้ายกับตลาดหุ้น โดยจะมีการเสนอราคาซื้อขายไฟฟ้า ผ่านขั้นตอนง่ายๆ คือ 1.สถานะการผลิตไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อประเมินการซื้อ-ขายไฟ 2.สามารถดูราคาซื้อขายไฟฟ้าในตลาดแต่ละวันเพื่อพิจารณาในการตั้งราคาซื้อขาย 3.กำหนดปริมาณไฟ ราคา ช่วงเวลาที่จะซื้อขาย 4.ติดตามการใช้ไฟฟ้าในบ้านและกำไรที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายแบบเรียลไทม์"
แต่ทั้งนี้ระบบเบื้องหลังในหลายๆส่วนมีความซับซ้อน อาทิ กลไกการคิดราคาที่จะต้องสอดคล้องกับการใช้งานไฟของบ้าน และยุติธรรมต่อทุกฝ่าย อีกทั้งธุรกรรมที่เกิดขึ้นมากมาย เราจึงนำระบบเทคโนโลยีตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า "บล็อกเชน" มาเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้การซื้อขายมีความน่าเชื่อถือ
ที่มา: Bangkokbiznews